pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง

 มาทำความรู้จัก “โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง” ที่กำลังระบาดหนักในสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่กลุ่มประชากรวัยรุ่น และ วัยทำงานในเขตเมืองใหญ่ (ในต่างประเทศพบมากในเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจเช่น นิวยอร์ก ซานฟรานฯ โตเกียว และปารีส)

อาการของโรคในขั้นแรกๆ

ผู้ป่วยจะมีอาการนิ่งเฉย ไม่ตอบสนองต่อการมีปฏิสัมพันธ์ปกติจากคนรอบข้าง เช่น การทักทาย การขอบคุณ หรือความช่วยเหลือจากภายนอก แต่ระบบประสาท (drag) ของผู้ป่วยจะมีความไวเป็นพิเศษหากเจอสิ่งเร้าในทางลบ หรือสิ่งกระตุ้นที่ตนเองไม่พอใจ โดยจะมีอาการตอบสนองอย่างรุนแรงทันทีที่ไม่ถูกใจบางสิ่ง เรียกสั้นๆ ว่า “เหวี่ยง

ในขั้นกลางของโรค

ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำการ แสดงออกถึงมารยาทพื้นฐานเช่น การขอบคุณ การขอโทษ การรับการทักทาย การยิ้ม การตอบคำถามทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือการให้ความร่วมมือกับงานของส่วนรวมได้ และไม่สามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจ / มีน้ำใจต่อผู้อื่นได้หากปราศจากผลประโยชน์ตอบแทน แต่เราจะพบความสามารถในการแสดงออกอย่างก้าวร้าว ด่าทอ นินทาว่าร้าย เรียกร้องความสนใจ แย่งซีนชาวบ้านมากขึ้นถึง 2.76394 เท่าของคนปกติ
ส่วนในขั้นสุดท้ายของโรค
ผู้ป่วยจะมีอาการ ต่อต้าน สังคมอย่างเห็นได้ชัด เหตุ+ผล จะหายไป โดยสัญชาตญานของความเห็นแก่ตัวจะเข้ามาแทนที่ อาการภายนอกเห็นได้จากหน้าตาที่บูดบึ้งโกรธเคืองตลอดเวลาในทุกสถานการณ์ บางรายมีท่าเดินที่ดูแปลกผิดปกติ อันเกิดจากจากบุคลิกภาพที่เสื่อมไปจากการไม่แคร์ภาพลักษณ์ของตน
ผู้ป่วยจะมีแรงกระตุ้นอย่างรุนแรงที่จะต่อต้านกติกามารยาทของสังคม หรือต้องการแสดงวาจาก้าวร้าวต่อผู้อื่นโดยไม่มีสาเหตุอันควร รวมถึงการแสดงความดูถูก เหยียดหยาม พูดจาตอกหน้าต่อผู้อื่นด้วยความตั้งใจ โดยเฉพาะกับคนที่ทำดีต่อผู้ป่วยก่อน เช่น เปิดประตูให้ ลุกให้ที่นั่งบนรถประจำทาง กล่าวคำทักทาย นำของขวัญมาให้ หรือแสดงความเป็นมิตรความใส่ใจห่วงใยต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ และผู้ป่วยบางรายมักเกิดความพึงพอใจเมื่อได้ค่อนขอดคนที่ทำดีในสังคมว่า สร้างภาพบ้าง โลกสวยบ้าง

บุคคลที่เข้าข่าย

มีอาการคิดว่าตัวเองสำคัญที่สุดในโลก คือมองว่าตนเองสำคัญเกินกว่าจะต้องลดตัวเองไปทำดีกับใคร ตัวเองสำคัญจนไม่จำเป็นต้องเคารพกติกามารยาทกาละเทศะใดๆ ในสังคม เพราะเป็นหน้าที่ของคนรอบข้างที่ต้องคอยมาเอาอกเอาใจตัวเพียงถ่ายเดียว
ส่วนกลุ่มที่สองมักมีปมด้อยดูถูกตัว เองอย่างสุดขีดจึงเกิดแรงผลักดันที่จะ…ไสความรู้สึกแย่ของตนไปให้ผู้อื่น ได้รับทุกข์ทรมาณด้วยเพื่อความสะใจลึกๆ หรือชอบอวดตัวเองอย่างบ้าๆ บ๊องๆ ขายความเสร่อสร้างความรำคาญ / อนาถใจแก่ผู้พบเห็น
ความร้ายแรงของโรค
หาก ไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดผลร้ายแรงจนขึ้นคาน หรือไม่มีใครคบตลอดชีวิตได้ สังคมรังเกียจ ทำให้ผู้คนที่ได้พบเห็นไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย ในรายที่เป็นหนักหนามากอาจถูกมองด้วยสายตาอันขยะแขยงรังเกียจได้

การรักษา
– ในผู้ป่วยระยะเริ่มต้นและปานกลาง แก้ไขอาการของโรคให้ทุเลาลงได้ด้วยการ
1. ยิ้ม
2. หัดพูดคำว่า “ขอบคุณครับ/ค่ะ” “ขอโทษครับ/ค่ะ” และ “ไม่เป็นไรครับ/ค่ะ” อย่างจริงใจให้เป็นนิสัย
3. นึกถึงใจเขาใจเราให้มากขึ้นว่าถ้าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำอย่างไร้มารยาทบ้างจะรู้สึกแย่อย่างไร เพื่อจะได้ไม่ทำกับคนอื่น
4. กับผู้ป่วยที่มีอาการเดียวกัน ให้คุณใช้เทคนิคขั้นสูงที่เรียกว่าการ “ช่าง แมร่งง” เพื่อป้องกันการดราม่าอันอาจนำไปสู่การติดต่อของโรค
5. การนั่งสมาธิ / ปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาที่เรานับถือสามารถลดความรุนแรงของอาการได้
– ในผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรง แนะนำให้งดหรือลดการใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิรค์ลงสักช่วงหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้นิสัยชิงดีชิงเด่น เรียกร้องความสนใจและพฤติกรรมก่อกวนสังคมเกิดกำเริบรุกลาม และออกไปมีเพื่อนจริงๆ ที่ไม่ประสาทบ้าง
– แต่หากในครึ่งปีอาการไม่ดีขึ้นผู้ป่วยควรไปพบจิตแพทย์ (ได้แล้ว)
ขอบคุณที่มาจาก jitsook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น