pearleus

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การเขียนบทบรรณาธิการง่ายกว่าที่คิด

การเขียนบทบรรณาธิการง่ายกว่าที่คิด
       สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ ทั้งหลาย  เผลอแป๊บเดียวนี่ก็ใกล้จะหมดปี 2556แล้ว  สงสัยจะจริงเหมือนที่ผู้ใหญ่เค้าพูดกันว่า  เวลาผ่านไปเร็วเหมือนโกหกเลย  แล้วอย่างนี้จะไม่ให้พวกเราแก่เร็วได้อย่างไร  จริงไหมคะเพื่อน ๆ    อุ๊ย อย่าพิ่งทำหน้าบึ้งกันสิคะ  แค่ล้อเล่นหน่อยเดียวเอง  ทราบค่ะว่าทุกคนกลัวแก่   ผู้เขียนเองก็กลัวเหมือนกันค่ะ  แต่ใครจะหยุดเวลาได้  จริงไหมคะ
ก็ต้องยอมรับล่ะค่ะว่าต่อไปเราทุกคนก็ต้องแก่กันหมด  แต่ ขอแก่แบบมีคุณค่านะคะ  ไม่ยอมแก่แบบไร้คุณค่าแน่นอนค่ะ  เพราะฉะนั้นถ้าใครไม่อยากแก่แบบไร้คุณค่า  ก็รีบเข้ามาทางนี้ได้เลยค่ะ  เพราะเรื่องที่ นำมาบอกกล่าวกันนั้น  รับรองค่ะว่ามีสาระครบถ้วน   ไม่ตกยุคแน่นอนค่ะ  เรามาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่าค่ะ  เรื่องก็มีอยู่ว่า จะขอขยายความเกี่ยวกับบทบรรณาธิการเพิ่มเติมให้อ่านกัน  โดยครั้งนี้ขอเสนอประเภทของบทบรรณาธิการค่ะ
ในการเขียนบทบรรณาธิการมีหลากหลายประเภท  แล้วก็สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้ค่ะ
1. แบ่งตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน  ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภทใหญ่ ๆ
 1.1  ประเภทเสนอข่าว  เป็นบทบรรณาธิการที่มีลักษณะย้ำข่าวหรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจในช่วงนั้น  โดยไม่มีการอธิบายหรือตีความมากนัก  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีเวลาพอที่จะพิจารณา  หรือตัดสินใจอย่างแน่นอนว่าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารของตนเองจะมีจุดยืนอย่างไร


1.2  ประเภทให้ข่าวสารและคำอธิบายขยายความ  เป็นบทบรรณาธิการที่ผู้เขียนต้องการให้ความกระจ่างแก่ผู้อ่านเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  โดยให้รายละเอียดเพิ่มเติมและมีการอธิบายขยายความอย่างเป็นลำดับขั้นตอน  และชี้ประเด็นที่สำคัญที่มีแง่มุมบางอย่างที่ซับซ้อน  หรือเข้าใจยาก  บทบรรณาธิการประเภทนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านเกิดปฏิกิริยาหรือเป็นการกระตุ้นความคิด  เพียงแต่ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจปัญหาและวิเคราะห์ได้ถูกวิธีเท่านั้นเองค่ะ
 1.3  ประเภทแสดงความคิดเห็น  เป็นบทบรรณาธิการที่ผู้เขียนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อข่าวหรือเหตุการณ์นั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่  ซึ่งการแสดงความคิดเห็นอาจจะเป็นการสนับสนุนหรือโต้แย้งก็ได้  แต่ยังไม่มีการให้ข้อเสนอแนะแต่อย่างใด
 1.4  ประเภทแสดงทัศนะและเสนอแนะ  เป็นบทบรรณาธิการที่ผู้เขียนนอกจากจะแสดงความคิดเห็นแล้ว  ยังต้องมีการให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา  เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อความรับผิดชอบนั้น ๆ และผู้อ่านได้รับทราบและนำไปพิจารณาต่อไป

1.5  ประเภทโน้มน้าวและเรียกร้องให้เกิดการกระทำ  เป็นบทบรรณาธิการที่เขียนขึ้นเพื่อต้องการโน้มน้าวและเรียกร้องให้เกิดพฤติกรรมที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน  แต่ว่าผู้เขียนจะต้องชี้ให้เห็นด้วยว่าปัญหาของเหตุการณ์นั้นรุนแรงเพียงใด 

 1.6 ประเภทชี้แจงหรือแถลงนโยบาย  เป็นบทบรรณาธิการในลักษณะการชี้แจงหรือแถลงนโยบายต่อจุดยืนของหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารนั้น ๆ


  1. แบ่งประเภทตามเนื้อหาของบทบรรณาธิการ  ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภท  ดังนี้
     2.1  ประเภทการเมือง  เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง  ทั้งการเมืองระดับท้องถิ่น  ระดับชาติ  ระดับระหว่างประเทศ
     2.2  ประเภทสังคม  เช่น ปัญหาแรงงาน  ยาเสพติด  อาชญากรรม  การขายบริการทางเพศ  เด็กเร่ร่อน  เป็นต้น
     2.3  ประเภทเศรษฐกิจ  เช่น  เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาทางการค้าและการลงทุนต่าง ๆ ทั้งในและระหว่างประเทศ  เช่น  การนำเข้า-ส่งออกสินค้า  การขึ้นราคาน้ำมัน  ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก  เป็นต้น
     2.4  ประเภทเจาะหาความจริง  เป็นบทบรรณาธิการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงบางอย่างที่มีเงื่อนงำ  ซับซ้อน  น่าสงสัย  เช่น  ปัญหาการทุจริตการรับเหมาสัมปทานของรัฐ  เพื่อมาตีแผ่ให้ประชาชนทราบทั่วกัน
.5  ประเภททั่วไป  ซึ่งจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนส่วนใหญ่  เช่น  ปัญหามลภาวะ  ปัญหาการจราจร
2.6  ประเภททั่วไป  เป็นบทบรรณาธิการที่เขียนเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดสำนึกต่อความรับผิดชอบในสังคม 


เช่น  การรณรงค์ให้ประชาชนไม่ขับรถขณะมึนเมา  การรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานทดแทน  การรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  เป็นต้น

 ไม่น่าเชื่อใช่มั้ยคะว่าบทบรรณาธิการมีหลายประเภทเลย  แต่ คิดว่าเพื่อน ๆ คงไม่สับสนนะคะ  เพราะว่าแยกหัวข้อต่าง ๆ ไว้ให้อย่างชัดเจนแล้ว  และที่สำคัญก็คือการเขียนบทบรรณาธิการไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ  มาติดตามครั้งหน้ากันนะคะว่า จะนำเรื่องอะไรมาเล่าให้เพื่อน ๆ อ่านกันอีก

  1.  

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ข้อควรปฏิบัติในการเขียนบทบรรณาธิการ

ข้อควรปฏิบัติในการเขียนบทบรรณาธิการ

  นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญต่อการเขียนบทบรรณาธิการ เพื่อให้งานเขียนมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือในการรับรู้ของผู้อ่าน ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอน ดังนี้
  1.การประชุมกองบรรณาธิการ เป็นการพบปะระหว่างสมาชิกในกองบรรณาธิการเพื่อพิจารณาและปรึกษาหารือถึงเรื่องที่มีคุณค่าเหมาะสมกับการนำมาเขียนเป็นบทบรรณาธิการรวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผล ในจุดยืนที่ควรแสดงออก
  2.การเลือกเรื่องหรือประเด็นปัญหา ควรเลือกเรื่องที่มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยตรง
  3.การตั้งวัตถุประสงค์ หมายถึง การกำหนดเป้าหมายของการเขียนเรื่องนั้นๆ เช่น เพื่อ โน้มน้าว ชักจูงใจ หรือเพื่อกระตุ้น เป็นต้น  ที่สำคัญการตั้งวัตถุประสงค์จะเป็นการช่วยให้ผู้เขียนสามารถเลือกใช้ภาษาได้อย่างเหมาะสม เข้าถึงกลุ่มผู้อ่านเป้าหมาย อีกทั้งยังช่วยให้การแสดงเหตุผลมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
  4.การพิจารณากลุ่มเป้าหมาย เป็นการกำหนดว่าบทบรรณาธิการที่เขียนนั้นต้องการสื่อไปยังกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายใด และเมื่อสามารถกำหนดเป้าหมายได้แล้วก็จะช่วยให้ผู้เขียนสามารถใช้ภาษาและลีลาการเขียนที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้อ่านนั้นๆ ที่สำคัญผู้เขียนจะต้องคำนึงด้วยว่าเนื้อหาที่สื่อไปนั้นผู้อ่านเข้าใจหรือไม่
  5.การรวบรวมข้อมูล ไม่ว่าจะเขียนสิ่งใดก็ตาม จำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อสนับสนุนหรืออ้างอิงในข้อเขียน ดังนั้นการรวบรวมและการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนจึงมีความสำคัญอย่างมาก
  6.การวิเคราะห์ข้อมูลและลำดับข้อมูล หมายถึง เมื่อได้ข้อมูลมาทั้งหมดให้ตัดสินใจเลือกข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดจากนั้นให้วิเคราะห์ข้อมูลซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะหากวิเคราะห์ข้อมูลไม่รอบคอบอาจเกิดความผิดพลาด ไร้ความเที่ยงธรรมได้ ส่วนการลำดับข้อมูลต้องมีการถ่ายทอดอย่างเป็นธรรม โดยเริ่มจากการร่างโครงเรื่อง (outline) ในประเด็นที่จะเขียนตามลำดับ และแต่ละย่อหน้าต้องมีเอกภาพเป็นเรื่องเดียวกัน
  7.การเขียนบทบรรณาธิการมีข้อควรระวังคือ การใช้ภาษาต้องสื่อสารอย่างเข้าใจได้ง่ายไม่ใช้คำฟุ่มเฟือยเกินไป  รวมทั้งการถ่ายทอดความคิดที่เป็นระเบียบ  มีการลำดับเนื้อหาที่ดีเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการสื่อสาร แต่ขณะเดียวกันถ้าสามารถสื่อให้เข้าถึงบุคคลทุกระดับจะเป็นการดีอย่างยิ่ง


  นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้วคุณสมบัติของผู้เขียนบทบรรณาธิการก็เป็นสิ่งสำคัญซึ่งผู้ที่จะเขียนบทบรรณาธิการที่ดีนั้นก็ควรมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างค่ะ อาทิ มีความสนใจในเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวาง, ควรจะมีความสามารถในการขุดคุ้ย ค้นคว้า เจาะหาข้อมูลได้อย่างลึกซึ้ง, มีจิตสำนึกของการเป็นนักข่าวที่ดีในการวินิจฉัยข้อมูลได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรงตลอดจนรู้กลวิธีในการได้ข้อมูลที่แท้จริง, มีความสามารถในการเขียนอย่างดี, มีความเป็นธรรม และพร้อมที่จะแสดงความเห็นในสิ่งที่พบเห็นโดยมีการศึกษา พิจารณา ไตร่ตรองอย่างมีคุณธรรม เพื่อแสดงออกถึงความคิดที่มีอยู่ สามารถถ่ายทอดความคิดนั้นได้อย่างชัดเจนในเวลาอันสั้น