pearleus

วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

วัยรุ่นไทยมีสติ อย่ายึดติดเน็ตไอดอล

กรมสุขภาพจิตห่วงการสื่อสารสร้างสังคมเชิงลบ  เตือนอย่าเลียนแบบพฤติกรรมไม่ดี
นพ.ชิโนรส  ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง พฤติกรรมเลียนแบบของวัยรุ่นในยุคสังคมออนไลน์ ว่า เป็นเรื่องปกติ ที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่แสวงหาต้นแบบ ต้องการการยอมรับจากเพื่อนฝูงและสังคม มีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ในบางเรื่องตามแนวโน้ม (Trend) และบรรทัดฐานของสังคม ซึ่งบุคคลต้นแบบหรือไอดอล (Idol) จะเป็นคนรอบข้าง พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือ ดารา นักร้อง นักแสดง ที่แต่ละยุคแต่ละสมัยจะมี idol แตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบัน เมื่อ โซเชี่ยลมีเดีย (Social Media) ได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้บุคคลทั่วไปเป็น ไอดอล หรือ เน็ตไอดอล (Net idol) ได้ง่ายขึ้น ทุกคนเป็นดาราได้ ผ่านการใช้ Instragram,  Facebook หรือ YouTube เป็นต้น ซึ่ง ถ้าต้นแบบ มีการสื่อสารในทางที่ดี สื่อสารเชิงบวก คนในสังคมก็ย่อมจะคิดบวก ทำความดี แต่หากสังคมยอมรับต้นแบบที่ไม่ดีมากๆ คนในสังคมก็ย่อมชินชา เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนเกิดเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีของสังคม
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การสื่อสารผ่านโซเชี่ยลมีเดีย สามารถสื่อสารออกไปได้ง่ายและรวดเร็ว ในวงกว้าง เป็นสื่อแบบ One to Many การควบคุมจึงลำบาก ไม่มีมาตรฐานจริยธรรมกำกับ เหมือนสื่อหลัก การเผยแพร่สิ่งต่างๆ ผ่านโซเชี่ยลมีเดีย จึงขาดการกลั่นกรอง ขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง กลายเป็นข่าวลือ ข่าวลวง สร้างความตระหนกให้เกิดขึ้นในสังคมได้ อีกทั้งการโพสต์การแชร์ด้วยคิดว่าเดี๋ยวจะตกข่าว ตก Trend โดยรีบเผยแพร่/ส่งต่อข้อมูลหรือภาพต่างๆ ในทันที ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น การส่งต่อภาพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์หรือ ภัยพิบัติต่างๆ เป็นการซ้ำเติมครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต ก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจขึ้นได้
ดังนั้น จึงต้องมีสติให้มาก คิดไตร่ตรอง สืบค้น หาข้อเท็จจริง ที่มาที่ไปให้ดี ก่อนจะโพสต์หรือแชร์ ตลอดจนเลือกรับแต่สิ่งที่ดี จากต้นแบบที่ดี วัยรุ่นจึงควรพยายามเปลี่ยนบรรทัดฐานของกลุ่ม โดยชื่นชอบบุคคลต้นแบบที่ดี เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเข้าสู่ วังวนที่ไม่ดี เช่น ใช้คำพูดรุนแรง ยกพวกตีกัน ซึ่งหากบรรทัดฐานในกลุ่มเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมจะขยายวงกว้างขึ้น กลายเป็นสังคมที่มีแต่การทะเลาะวิวาท หากอยู่ในสังคมที่มีแต่เพื่อนติดยา ก้าวร้าว อันธพาล เราก็จะกลายเป็นแบบนั้น แต่หากวัยรุ่นเปลี่ยนบรรทัดฐานของสังคมที่ดี ให้เกิดขึ้นในกลุ่มเล็กๆ ของตัวเองได้ พฤติกรรมและสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมขยายวงกว้างออกไป เป็นสังคมที่มีแต่สิ่งดีๆ

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตมีโครงการ To Be Number One Idol เยาวชนต้นแบบเก่งและดี ที่ต้องการสร้างต้นแบบให้กับเยาวชน ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นดารา แต่ต้องใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา มีพฤติกรรมที่ดี ไม่เป็นอันธพาล ไม่ทำร้ายผู้อื่น ซึ่งพวกเขาจะกลายเป็นวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ของประเทศที่จะช่วยสร้างสังคมเชิงบวกต่อไปได้


ตัวอย่าง
สื่อพาดข่าว ตั้งฉายา สาวโหดฆ่าหั่นศพว่า "สวยประหาร" ส่งสัญญานผิดให้วัยรุ่น เกิดความรู้สึกยกย่อง เป็น Idol ได้ ถือว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรมสื่อ

อย่าสนับสนุนสื่อ ไร้จรรยาบรรณ!!!


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น