pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สิทธ์บัตรทอง 30 บาทมีแนวโน้มจะยกเลิกไหม สงสารคนที่ไม่มีเงินรักษา

30 บาทอยู่ในอันตราย! :คอลัมน์ ใบตองแห้ง

วันที่ 2 มิถุนายน 2560
พาดหัวอย่างนี้ ไม่ใช่ตีปี๊บว่ารัฐบาลจะล้มบัตรทอง เดี๋ยวโฆษกไก่อูต้องปฏิเสธพัลวัน ปัดโธ่ รัฐบาลไหนก็ไม่กล้าล้ม 30 บาทหรอก แม้รัฐราชการมองเป็นภาระ
เอาไว้ถ้าลงทะเบียนคนจน 14 ล้านคน พิสูจน์ว่าได้ผล ตรงเป้า อีกซัก 1-2 ปี อาจมีคนเรียกร้องให้ยุบบัตรทองรวมกับบัตรเครดิตคนจน ไอ้พวกที่เหลืออีก 34 ล้านคนตัดหางไป ไม่จนจริงนี่หว่า
แต่วันนี้ยืนยันแทนไก่อูได้ว่า รัฐบาลไม่ล้ม 30 บาท เพียงแต่มีคนจ้องจะล้ม หรือยึด สปสช.ต่างหาก สังเกตสิครับ พวกหมอที่ออกมาโวยวาย กระทั่งหมอตายก็โทษ สปสช. ล้วนยืนกรานว่าไม่ล้ม 30 บาท แค่อยากให้ยุบ สปสช. เอางบประมาณกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น
ข้ออ้างของหมอๆ มีร้อยแปดพันเก้า สรุปคร่าวๆ คือหาว่า สปสช.ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน จนพี่ตูนต้องวิ่งลิ้นห้อย ออกกฎเกณฑ์ค่ารักษา โรงพยาบาลเบิกได้เพียงร้อยละ 50-70 ของค่าใช้จ่ายจริง ที่เหลือโดน “ชักดาบ” กำหนดกฎเกณฑ์จนหมอไม่สามารถรักษาตามความเหมาะสมเป็นจริง
ถามหน่อยสิครับ ถ้ายุบ สปสช.โอนงบกลับ สธ.แล้วปล่อยให้พวกท่านรักษาสั่งยาตามต้องการ มันจะไม่ขาดทุนบานเบอะกว่านี้หรือ
สปสช.ได้งบรายหัวจากรัฐบาล ปี 2560 ได้ 3,109.87 บาท ก็เอามาเฉลี่ยวางกฎเกณฑ์การใช้จ่าย ซึ่งไม่ใช่กำหนดค่ารักษามั่วๆ ก็ให้พวกอาจารย์หมอนี่แหละมาทำระบบ DRG RW วางมาตรฐาน เช่น ผ่าไส้ติ่งทั่วไป ไม่มีโรคแทรกซ้อน ค่ารักษาควรเป็นเท่าไหร่
แน่ละครับ เงินมันจำกัดจำเขี่ย จะให้เหมือนสวัสดิการข้าราชการหัวละ 14,000 บาทได้อย่างไร แต่แทนที่จะช่วยเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเงิน พวกหมอกลับรุมกระทืบ สปสช.
เอาเข้าจริงคือหมอๆ ไม่พอใจ “ระบบหลักประกันสุขภาพ” ที่ตั้ง สปสช.ขึ้นเหมือนบริษัทประกัน รับเงินรายหัวจากรัฐบาลไป “ซื้อบริการ” ให้ประชาชน 48 ล้านคน ซึ่งถ้ามองภาพใหญ่ ประเทศไทยมี 3 กองทุน ได้แก่ สปสช. ประกันสังคม และข้าราชการ ซื้อบริการจากสถานพยาบาลให้ “ลูกค้า” ของตน
ระบบนี้เปลี่ยนสถานะ ร.พ.กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นผู้ให้บริการ “รับจ้าง” แต่ละกองทุน ได้เงินมาก็ต้องบริหารจัดการตัวเอง ไม่ใช่รับงบจากรัฐบาลมาใช้จ่ายไม่อั้นขาดเหลือเท่าไหร่เบิกได้เช่นในอดีต
นั่นละ ถึงได้มีความพยายามล้ม สปสช.หรืออย่างน้อยที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ “ยึด สปสช.” ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำลังจะเข้า สนช.
หัวใจของร่าง พ.ร.บ.นี้คือ แก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากเดิมมีที่มา 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนราชการ ปลัดกระทรวงต่างๆ 8 คน ภาคประชาชน 5 คน อปท. 4 คน ตัวแทนวิชาชีพ 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน จะเพิ่ม “ผู้ให้บริการ” คือตัวแทนโรงพยาบาลต่างๆ ทั้ง ร.พ.ของ สธ. ร.พ.สังกัดต่างๆ และ ร.พ.เอกชน รวม 7 คน พร้อมกับให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน
ขณะเดียวกันยังจะเพิ่มตัวแทน ร.พ.ในบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน จาก 35 เป็น 42 คน
นี่ขัดหลักการของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติตรงๆ เลยนะครับ ที่ต้องการแยก สปสช.เป็น “ผู้ซื้อบริการ” สธ. และ ร.พ.ต่างๆ เป็น “ผู้ให้บริการ” นี่กลับจะเอามานั่งในบอร์ด ทั้งที่มีตัวแทนวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัช ฯลฯ เป็นปากเสียงให้อยู่แล้ว
ไม่ต้องพูดถึงบอร์ดควบคุม ถามว่าคุมใคร ก็คุมคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการรักษาให้ ร.พ.ต่างๆ รับเรื่องร้องเรียน ฯลฯ ถ้าเอาตัวแทน ร.พ.มานั่งในบอร์ด ถามว่า “ประโยชน์ ทับซ้อน” ไหม
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ การแพ็กกันของตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ระบบราชการ ร.พ.ต่างๆ ผู้แทนวิชาชีพ (ซึ่งยังจะรวมกันเป็นเสียงข้างมากเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ) ถีบภาคประชาชนและท้องถิ่นเป็นกระเทียมลีบ เข้ามาควบคุมจัดสรรงบประมาณ กำหนดค่ารักษาตามที่พวกหมอๆ ต้องการ
มองโลกแง่ดีอาจดีก็ได้ ตรงที่สุดท้ายงบไม่พอก็ให้ด่ากันเอง หรือแห่ไปขอรัฐบาลจาก 1.5 แสนล้าน เป็น 3 แสนล้าน แต่กว่าจะถึงตอนนั้นระบบคงเละไปหมด แล้วก็คงจะนำไปสู่แนวคิด “ร่วมจ่าย” หรือตัดหางไอ้พวกไม่จนจริง
นี่ยังไม่พูดถึงประเด็นไม่ให้อำนาจ สปสช.จัดซื้อยาราคาแพง ซึ่งเป็นอีกปม ทุกวันนี้ สปสช.จัดซื้อยาทีละเยอะๆ ราคาถูกกว่า เช่น ยาไวรัสตับอักเสบบี เม็ดละ 70 บาท ซื้อได้ 12 บาท ยา HIV มะเร็ง ฯลฯ พวกนี้ถ้าให้ ร.พ.แยกซื้อเองเจ๊งเลยนะ
ยืนยันให้อีกที ไม่มีใครล้ม 30 บาทหรอก แต่ถ้าล้ม สปสช. ล้มหลักการแยกผู้ซื้อบริการกับผู้ให้บริการ ระบบหลักประกันสุขภาพก็จะเละ งบประมาณจะบานปลาย คุณภาพก็แย่ลง จนล้มไปเองในที่สุด
ซึ่งขั้นนี้ก็อยู่ที่พลังคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี่แหละว่าจะไหวไหม
*******************************************************************************

คำชี้แจงของหมอคนหนึ่ง
ไม่ยกเลิกครับ เพียงแต่ปรับให้กองทุนอยู่รอด จากทุกวันนี้ คนมี คนไม่มี ก็จ่าย 30 บาทหมด
เค้าก็จะปรับเป็น copay คือคนมีก็ร่วมจ่าย คนไม่มีก็ไม่ต้องจ่าย
เพียงแต่ถ้าจะยืนยันว่าไม่มี ก็ไปลงทะเบียนให้เรียบร้อย  เงินที่มีจำกัด ก็จะได้ลงไปช่วยเหลือให้ตรงจุด

ทุกวันนี้อยู่รพ. คนที่มารักษาจริง ๆและใช้ 30 บาทจริง ๆคือคนชั้นกลางนะครับ
ซึ่งบางบ้านก็มี บางบ้านก็ไม่มี ส่วนคนที่จนจริง ๆ หนะ ขนาดค่ารถจะมารพ.ยังไม่มีเลย
ดังนั้นเค้าถึงจะหาทางลงไปช่วยคนที่จนจริง ๆ นี่แหละครับ โดยการให้ไปลงทะเบียน
หาอาชีพ หางาน หาสวัสดิการให้ ส่วนคนชั้นกลางที่พอมีก็จะให้ร่วมจ่าย แต่จะออกมากี่บาท
ก็ยังต้องไปหาทางออกร่วม แต่ไม่มีปล่อยนอนตายอยู่บ้านครับ
คนไม่มีตังค์ก็แค่บอกว่าไม่มีตังค์ เค้าจะได้ช่วยไม่ใช่ไม่มีก็ไม่บอก แล้วให้รัฐบาลแจกฟรีให้เท่ากันทุกคน เพราะเงินมันก็จำกัด สมมติกลม ๆ งบสาธารณสุขปีละ 200000 ล้าน
ให้คน 60 ล้านคน ได้ตกคนละ 3000 บาท (จริงๆไม่ถึง เพราะเงินเหมา 3000 ที่จัดสรร มันรวมเงินเดือนหมอ พยาบาล ค่าตึก สิ่งปลูกสร้าง ค่าน้ำ ค่าไฟรพ.ด้วย)
แต่ถ้าเปลี่ยนให้คนที่มีตังค์ copay ซักครึ่ง 20ล้านคน เหลือคนจนที่จำเป็นจริงๆ 40 ล้านคนงบต่อหัวก็จะเป็น 5-6000 บาทด้วยซ้ำ
ซึ่งหมายถึงยาที่ดีกว่า การรักษาที่ดีกว่า คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า นั่นแหละครับ อย่ามองว่าอนาถา
แต่มันคือการปรับระบบให้กองทุนอยู่รอด คนไทยอยู่ได้ดีขึ้นครับ

**************************************
ระบบประกันสุขภาพไม่มีวันล้ม และไม่มีใครหรือรัฐบาลใหนมาล้มได้หรอกครับ
นอกจากวาทกรรมของคนบางกลุ่มที่ต้องการบิดเบือนว่ารัฐบาลจะล้มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
(เหตุผลคือรัฐบาลเห็นว่าด้วยรูปแบบเดิมของหลักประกันสุขภาพที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามยึดไว้เพื่อมาบริหารจะมีปัญหามากขึ้นในอนาคต จึงอยากปรับเปลี่ยนระบบการจัดการบางอย่าง เปลี่ยนอย่างไรจะว่ากันต่อ)

อยากให้เข้าใจตรงกันก่อนครับว่าบัตรสามสิบบาทหรือบัตรทองไม่มีอยู่แล้วน่ะครับในปัจจุบัน
ที่เป็นอยู่คือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไม่มีการเรียกเก็บเงินสามสิบบาทแล้วครับ
โดยข้อเท็จจริง
ทีนี้หลักของการประกันสุขภาพโดยคร่าวๆจะถือหลัก ของการเท่าเทียมคือคนทุกคนที่เป็นคนไทย มีสิทธิในการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพโดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะยากจนหรือรวยล้นฟ้า

แต่โดยข้อเท็จจริงเช่นกัน อย่างที่มีคนกล่าวถึง คนที่จนจริงๆอยู่ห่างไกล เดินทางลำบากไม่อาจเข้าถึงการรักษาเพราะจนแม้กินหรือค่าเดินทางมารักษายังไม่มี
คนที่พอมีบางหรือปานกลางคือคนที่มาใช้บริการส่วนใหญ่
แต่ก็ปรากฏว่าคนที่รวยมากๆก็ยังมาใช้สิทธิอันนี้ แย่งชิงทรัพยากรในการรักษาที่มากกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ
บางคนรวยหลายสิบล้านยังมีเลย บางคนรักษาเอกชนค่ายาเดือนละ 2-30000บาทต่อเดือน
พอต้องจ่ายนานก็ขอมารับยาที่ รพ.รัฐแทน ด้วยช่องทางพิเศษที่จะใช้สิทธิอันนี้

ผู้ป่วยที่ป่วยจากการทำตัวเอง เช่นกินเหล้า สูบบุหรี่ ยาเสพติดแล้วป่วย ก็มาใช้สิทธิอันนี้
ด้วยหลักของความเท่าเทียม ซึ่งในประเทศไทยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้รูปแบบหลักการนี้อยู่ในปัจจุบัน(มีหลายประเทศที่ใช้หลักนี้) แต่เท่าเทียมก็ไม่เท่าเทียมจริง ในคนไทยทุกคน เพราะยังมีคนไทยที่มีประกันสุขภาพในรูปแบบประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้สิทธิที่ไม่เท่าเทียมกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าเนื่องจากการมีงบจำกัด

ในขณะที่คนทุกคนในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสิทธิเท่าเทียม จึงต้องแบ่งปันกันด้วยงบจำกัด

ยังมีระบบประกันสุขภาพที่ใช้หลักของความยุติธรรม ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้กันอยู่
หลักการคือคนที่ยากจนก็ได้สิทธิมาก คนที่พอมีก็ต้องจ่ายบ้าง คนที่รวยก็ต้องจ่ายมากขึ้น
โดยถือหลักว่าคนที่มีฐานะดี ย่อมมีศักยภาพในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรของชาติมากกว่าคนที่อยากจน ..ดังนั้นถือเป็นหน้าที่ที่คนที่ร่ำรวยควรต้องจ่ายเพื่อการดูแลสุขภาพที่มากกว่าคนที่ยากจน นี่คือหลักความยุติธรรม

ที่นี้รูปแบบยังแยกได้อีกหลายรูปแบบตั้งแต่การร่วมจ่าย Copayment ซึ่งก็มีหลายรูปแบบเช่นกัน
เช่นร่วมจ่ายในบางเรื่องบางรายการ หรือชนิดการรักษา หรือจ่ายเป็นรายโรค บางโรคจ่ายมาก
บางโรคก็จ่ายน้อย หรือโรคที่ทำร้ายตัวเอง เช่นดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็จ่ายมากหน่อย เป็นต้น
หรือการซื้อประกันสุขภาพ ดูตามรายได้ของแต่ละบุคคล เป็นต้น

ยังมีเรื่องของการเสียภาษีเพิ่ม บางประเทศจะเก็บภาษีแพงมาก เช่น อังกฤษหรือสแกนดิเนเวีย
บางประเทศจะมีภาษีสุขภาพต่างหาก เพื่อมาจัดการระบบสุขภาพ
บางประเทศเก็บภาษีสูงแล้วยังมีการให้เสียเงินทำประกันสุขภาพด้วย
หวังว่าคงเข้าใจหลักการนี้ก่อนน่ะครับ

ที่นี้มาต่อด้วยวาทกรรมของบางกลุ่มที่อ้างว่ารัฐบาลจะล้มระบบประกันสุขภาพเพื่อไปทำให้เกิดระบบอนาถาแทน ให้มีการลงทะเบียนคนจน คนพูดอ้างถึงตรรกะที่ให้มีการจดทะเบียนผู้มีรายได้น้อยว่าเป็นผู้ป่วยอนาถารักษาโดยไ่ต้องชำระเงินเลย

ซึ่งโดยข้อเท็จจริงคือทุกวันนี้รัฐบาลก้ไม่เคยเรียกเก็บเงินและชำระฟรีอยู่แล้ว
นั่นหมายถึงว่าโดยสถานะปัจจุบัน คนทุกคนที่ใช้สิทธิรักษาฟรี ที่ไม่ใช่สิทธิประกันสังคม
สิทธิข้าราชการเบิกได้กระทรวงการคลังทั้งหลาย ก็คือสถานะอนาถาทุกคนอยู่แล้ว
ถ้าบอกว่าการรักษาฟรีเป็นเช่นนั้น แม้แต่เศรษฐีร้อยล้านที่ไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพก็ต้องถือว่าอนาถาด้วย ด้วยนิยามหรือความเข้าใจของผู้ต้องการบิดเบือนอ้างว่ารัฐบาลต้องการล้มระบบประกันสุขภาพ

แล้วทำไมรัฐบาลจึงต้องการเปลี่ยนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดิม
ก็ต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา 14 ปี
จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องจ่ายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพนำมาใช้ที่ผ่านมา มีแต่ตัวเลขที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นภาระต่อระบบงบประมาณของราชการในขณะที่ปัญหาสุขภาพสุขภาพของประชาชนไม่ลดลงเลย ทั้งที่เงินเข้าระบบมากขึ้น

อัตราป่วยของประชากรสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ(สาเหตุเพราะอะไรต้องคุยกันยาว)
ในขณะที่ต้นทุนรักษาโรคของผู้ป่วยก็สูงขึ้นเช่นกัน และเนื่องจากด้วยหลักของความเท่าเทียม
ที่ผ่านมาที่ สปสช(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)นำมาใช้นั้น คนจนจริงไม่ได้ใช้ คนชั้นกลางใช้มากที่สุดและคนรวยมาแย่งใช้ โรพยาบาลพยายามที่จะลดต้นทุนลงกลายเป็นการเสียโอกาสและสียสิทธิสำหรับคนที่ยากจนและคนที่พอมี ไม่ได้โอกาสที่จะรับการรักษาแบบเต็มที่เพราะงบจำกัด

ในขณะที่คนที่พอมีจ่ายได้บ้างก็เสียสิทธิอาจไม่ได้รับการรักษาเต็มที่ เพราะ รพ.ก็ต้องลดต้นทุนเช่นกัน
ถ้าพอจ่ายเองบ้างก็มีสิทธิเลือกวิธีการรักษาได้ ไม่ใช่แบบเหมาโหลตามที่ สปสช กำหนด(นี่อีกประเด็นที่คุยยาว)

ส่วนคนรวยไม่มีปัญหาเพราะเริ่มการรักษามักไปเอกชนก่อน การรักษาต่อเนื่องจึงมาใช้สิทธิตาม สปสช
ข้อเท็จจริงอีกอันคือตั้งแต่มี สปสช.... รพ.รัฐต้องรับงบดำเนินการส่วนใหญ่จาก สปสช
ผลที่เกิดขึ้นเป็นข้อเท็จจริงคือมี รพ.รัฐอยู่ในภาวะขาดทุน มีวิกฤตปัญหาการเงิน และมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะพยายามบริหารเพื่อลดต้นทุนแล้วก็ตาม ก็ยังอยู่ในภาวะขาดทุนอยู่ในปัจจุบัน
นั่นคือเหตุผลหลักเลยที่รัฐบาลต้องหันมามองการจัดการระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย
ให้มีรูปแบบอย่างที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกทำ ซึ่งอย่างที่ได้ยกตัวอย่างแล้ว
ถ้าใช้หลักของความยุติธรรม ก็มีหลากหลายวิธีที่จะทำได้ ไม่ใช่แบบที่มีคนพยายามบิดเบือน
เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้กำหนดวิธีการด้วยซ้ำ แต่มาบอกแล้วว่าเป็นการลงทะเบียนคนจนและทำ copayment

copayment มีได้หลายวิธีหลายรูปแบบที่หลายประเทศทำ เพียงแต่ต้องศึกษาและปรึกษาร่วมกันให้ดีว่า
ควรทำในรูปแบบใดที่จะเหมาะสมกับคนไทยมากที่สุด
อาจเพิ่มภาษี VAT /เพิ่มภาษีสุขภาพ / หรือเพิ่มภาษีส่วนบุคคล  / อาจเป็นการให้ซื้อประกันสุขภาพ
การเป็นcopayment กำหนดอัตราคงตัว หรือปรับตามโรคที่ป่วยเป็นเหมาจ่ายเป็นต้น หรือเป็นทางเลือกเพิ่มในการเลือกการรักษาที่จำเพาะหรือพิเศษออกไป

ผมคงไม่สามารถสรุปว่าเป็นแบบใด และกระทรวงสาธารณสุขเองก็ยังไม่มีข้อสรุป
แต่ก็มีกลุ่มมนุษย์วิเศษที่รู้ไปก่อนแล้วว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี่ ออกข่าวไปก่อนแล้ว
ดังนั้นผมคงบอกในชั้นนี้ได้ว่า
ด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ และแนวคิดเบื้องต้นของกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีการล้มหลักประกันสุขภาพแน่นอน แต่คงมีการปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อระบบประกันสุขภาพในอนาคต
ที่ไม่ล้มโดยใคร แต่ล้มโดยตัวเองที่ไม่มีทางหางบประมาณมาดำเนินการต่อไปได้

********************************************************


ระบบสุขภาพถ้วนหน้า ( บัตรทอง บัตรสุขภาพ บัตรสามสิบบาท ฯลฯ ) หลักการดี แต่มีปัญหาเรื่องของการปรับใชั โดยเฉพาะเรื่องของ งบประมาณ กับ คุณภาพบริการ  ( เพราะ ค่าใช้จ่ายที่ปรับลดมากสุด ก็คือ ค่ายา ? )

เรื่องงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิราชการเบิกได้ หรือ สิทธิสุขภาพถ้วนหน้า  ก็จะต้องมีการปรับลด ควบคุมค่าใช้จ่าย เพราะ มีผลต่องบประมาณของประเทศ ซึ่งไม่ว่า รัฐบาลไหน ก็ต้องทำเหมือนกัน คือ ต้องปรับลด งบประมาณด้านสุขภาพ

ความจริงที่เกี่ยวกับระบบการบริการด้านสุขภาพของประเทศไทย .. พญ. เชิดชู   

ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจงสภาพข้อเท็จจริงระบบสุขภาพของไทย    

ตัวอย่างปัญหา ประกันสังคม .. โรงพยาบาลเอกชน และ ความต้องการของผู้ป่วย ???   

ทีดีอาร์ไอ : ระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและเท่าทียมของไทยในอนาคต  


ฝันร้ายในระบบบริการสุขภาพไทย .. นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ( สิงหาคม ๒๕๕๗ )   

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง บัตรสามสิบบาท ฯลฯ) หาข้อมูลก่อนแสดงความเห็น บ้างก็ดีนะครับ  

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลักการดีแต่ต้องรีบ“ปฏิรูปวิธีดำเนินการ” ... พญ. เชิดชู  


ดูบทความทั้งหมด

1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าชอบบทความที่นำมาให้อ่าน เขียนให้กำลังใจบ้างนะคะ คนทำบล็อกก็เหมือน บรรณารักษ์ห้องสมุดนะคะ อ่านๆ รวบรวม จัดหมวดหมู่ คนมาใช้บริการจะได้เลือกอ่านได้ถูก

    ตอบลบ