pearleus

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

"แถลงข่าว"-"ทำแผนฯ" กับสิทธิผู้ต้องหา : อาชญากรรมที่รัฐเป็นคนก่อ

สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิก่อนศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุด
ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องหาในคดีอาญาทุกคน พึงได้รับการคุ้มครอง
 อย่างไรก็ตาม การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้สื่อข่าวหลายครั้ง โดยเฉพาะการจัดแถลงข่าว หรือจัดทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ในคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะชน ก็มีผลทำให้สิทธิดังกล่าวได้รับผลกระทบอยู่พอสมควร
 การแถลงข่าวการจับกุม 'ชายชุดดํา'
 วันที่ 11 กันยายน 2557 ที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จัดแถลงผลการจับกุมกลุ่มชายชุดดําที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิด ยิงใส่เจ้าหน้าที่ ระหว่างการชุมนุมบริเวณแยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557 จนเป็นเหตุให้ พล.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม (ตําแหน่งในปัจจุบัน) เสียชีวิต
 พล.ต.อ. สมยศ กล่าวว่า ค่อนข้างมั่นใจการจับกุมครั้งนี้ว่าเป็นผู้กระทําความผิดอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งหมด ให้การรับสารภาพ ว่าเป็นกลุ่มชายชุดดําที่ก่อเหตุดังกล่าวจริง ทั้งนี้ระหว่างแถลงข่าวการจับกุม มีการนําผู้ต้องหาทั้งหมดมาใส่ชุดสีดําและพันแขนด้วยผ้าสีแดง ใส่หมวกไหมพรมสีดำ นั่งเรียงหน้ากระดานให้นักข่าวถ่ายภาพ

สื่อหลายสำนักเสนอข่าวดังกล่าวในลักษณะที่ว่า บุคคลตามภาพถ่ายเหล่านั้น คือ 'ชายชุดดํา' ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ พล.อ. ร่มเกล้า เช่น
ASTVผู้จัดการ พาดหัวข่าวว่า "รวบ 5 ชายชุดดํา สังหาร พล.อ.ร่มเกล้า โยง เปิ้ล กริชสุดา"
ไทยโพสต์ พาดหัวข่าวว่า "จับชุดดํายิงร่มเกล้า สารภาพรับคําสั่งไปถล่ม!สมยศแฉโยงคนเสื้อแดง"
ขณะที่ ไทยรัฐออนไลน์ พาดหัวข่าวว่า"เผยโฉม 5 ผู้ต้องหา ชายชุดดําฆ่าทหารที่ราชดําเนิน"

จะเห็นว่า การนําเสนอข่าวในลักษณะนี้สร้างความเชื่อบางอย่างให้กับสังคม จนเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เช่น ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า โพสขอบคุณเจ้าหน้าที่ตํารวจในสื่อสังคมออนไลน์ หรือ กรณีที่ ถาวร แสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันถึงการมีอยู่ของชายชุดดําและชื่นชมการทํางานของเจ้าหน้าที่ตํารวจในครั้งนี้
กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว
การจัดแถลงข่าวในลักษณะเช่นนี้ ดูจะขัดกับแนวปฏิบัติและระเบียบของสตช.หลายๆข้อ เช่น
 
คำสั่ง สตช. ที่
855/2548 ซึ่งกําหนดแนวทางการปฎิบัติการให้ข่าว แถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนดังนี้
 1.2.1 ผู้มีอํานาจหน้าที่ให้ข่าว แถลงข่าว หรือ ให้สัมภาษณ์ต้องปฏิบัติภายในขอบเขตอํานาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ควรระมัด
ระวังถ้อยคํา หรือกิริยาท่าทาง อันจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น และควรใช้ถ้อยคําที่เป็นกลางเพื่อไม่ให้เป็นการประจาน ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น
1.2.2.5 ห้ามให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ในกรณีที่ เป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบหรือเสียหายต่อคดี โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในระหว่างการสืบสวนหรือสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น
1.2.4 ห้ามนําหรือจัดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาให้ข่าวแถลงข่าวหรือ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงให้ขออนุญาตต่อผู้บัญชาการ
หรือ คําสั่ง สตช. ที่ 465/2550 ที่กําหนดว่า
ห้ามหรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวของผู้ต้องหา ในระหว่างการควบคุมของตํารวจทั้งภายในและภายนอกที่ทําการหรือสถานีตํารวจเว้นแต่พนักงานสอบสวนดําเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดี หรือได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหา เหยื่ออาชญากรรม หรือผู้เสียหาย
บังคับ 'ทำแผนฯ' อีกหนึ่งเครื่องมือที่กระทบสิทธิผู้ต้องหา
 นอกจากการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวแล้ว การทำแผนประทุษกรรม หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า กาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ที่ให้ผู้ต้องหามา "ทำซ้ำ" การกระทำที่ตนสารภาพในชั้นสอบสวน ต่อหน้าผู้สื่อข่าวและสาธารณชน ก็มีผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ไม่น้อย
 โดยหลัก 'การทำแผนฯ' มีขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตํารวจใช้ศึกษากลวิธีหรือขั้นตอนในการกระทําความผิดของคนร้าย อันจะทำให้การสืบสวนเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น เท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ต้องหามาแสดงการกระทำผิดซ้ำ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการปรักปรำตนเอง ทั้งนี้การนําชี้ที่เกิดเหตุประกอบคํารับสารภาพ เป็นพยานหลักฐานที่ยังไม่เพียงพอจะนําใช่ลงโทษจำเลยได้  ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813-2814/2523 ที่วางไว้ว่า ลำพังคำรับสารภาพ ชั้นสอบสวน และบันทึกชี้สถานที่เกิดเหตุ ประกอบคำรับสารภาพ ไม่เพียงพอที่จะใช้ลงโทษจำเลยได้
 คดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เกาะเต่า ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมากในปี 2557 สื่อหลายสำนักจึงรายงานข่าวในวันที่ผู้ต้องหาชาวพม่าถูกพาตัวมาทำแผนประกอบคำรับสารภาพบริเวณที่เกิดเหตุ และไทยรัฐทีวีก็เป็นสื่อหนึ่งที่นำเสนอข่าวโดยมีภาพจําลองประกอบเหตุการณ์ เพื่อลําดับขั้นตอนในการก่อเหตุขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งการที่สาธารณชนได้เห็นภาพผู้ต้องหา แสดงท่าทางการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาผ่านสื่อ ก็ย่อมมีผลทำให้สาธารณชนบางส่วน เข้าใจว่าผู้ต้องหาคือผู้กระทำผิด ก่อนจะมีการพิสูจน์ในชั้นศาลได้ไม่ยาก
 'ทำแผนฯ' ต่อหน้านักข่าว ขัดคำสั่งสตช.
 นอกจากนี้ การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ที่มีการให้สื่อหลายสำนักเข้าไปทำข่าว ก็อาจขัดต่อ คําสั่ง สตช. ที่  855/2548 ข้อ 2.4 ซึ่ง ห้ามจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทําข่าว ขณะเมื่อมีการให้ผู้ต้องหานําพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคํารับสารภาพ และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ใดๆ ในลักษณะเป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานสอบสวนกับผู้ต้องหา หรือบุคคลใด โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นผู้สัมภาษณ์เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้รูปคดีเสียหาย และยังต้องให้ข้อมูลในลักษณะที่เป็นกลางอีกด้วย
 ทั้งนี้ ในขณะที่สื่อไทยส่วนหนึ่งเลือกที่จะเสนอข่าวการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ที่ทำคดี ในลักษณะฟันธงและสร้างความชอบธรรมในการปฎิบัติหน้าที่ จนส่งผลให้สังคมพิพากษาผู้ต้องหาล่วงหน้าไปแล้วนั้น สื่อต่างประเทศ อย่าง เดอะ เทเลกราฟ กลับเสนอข่าวว่า ประชาชนที่มาดูการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ไม่เชื่อม้ั่นในกระบวนการดังกล่าว เพราะมองว่า ผู้ต้องหาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ภายใต้การชี้นำและคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 ความเห็นต่อการแถลงข่าวและการทำแผนฯ
 ทั้งการแถลงข่าว และการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ล้วนมีผลกระทบในด้านลบต่อสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนศาลมีคำพิพากษา ของผู้ต้องหาในคดีอาญา ก่อนหน้านี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักสิทธิมนุษยชน และนักกฎหมาย เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแถลงข่าว และการทำแผนประกอบคำรับสารภาพไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น
 พ.ต.อ.ชโลธร สิทธิปัญญา พนง.สืบสวนสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ กองบังคับการตํารวจนครบาล 2 ตัวแทนจาก สตช. เคยให้ความเห็นไว้ว่า ตามกฎหมายให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ที่จะพิจารณาว่าจะมีการแถลงข่าวหรือควรนําผู้ต้องหาไปทําแผนประกอบคํารับสารภาพหรือไม่ แต่ในความคิดของผู้บังคับบัญชาก็จะมองว่าการแถลงข่าวส่วนหนึ่งเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของหน่วยงาน และกรณีที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการปรามคนที่คิดกระทําผิด
 ทั้งนี้ พ.ต.อ.ชโลธร เห็นว่า การนําผู้ต้องหาไปทําแผนฯ ควรให้เป็นไปเพื่อให้ได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ชัดเจนสามารถเอาผิดผู้กระทําผิดได้ ถ้าไม่ได้เป็นไปเพื่อเป็นจุดประสงค์ดังกล่าวก็ไม่จําเป็นต้องทำ
 นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช จากสํานักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยให้ความเห็นไว้ว่า การเสนอข่าวอาชญากรรมในปัจจุบัน มีการเผยแพร่ภาพผู้ต้องหาในคดีอย่างชัดเจน ทั้งในการนําผู้ต้องหามาแถลงข่าวหรือนําผู้ต้องหาไปทําแผนประกอบคํารับสารภาพ และมีการรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหา การปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องหา ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 ที่ระบุว่า ก่อนมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ถือว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยเป็นผู้บริสุทธิ์
 ขณะที่ นายสมชาย หอมลออ อดีตประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้ามีการรับสารภาพของจําเลยต่อหน้าพนักงานสอบสวนและทนายความของจําเลย ก็น่าจะเป็นหลักฐานเพียงพอที่น่ารับฟังได้ไม่น้อยไปกว่าการนําผู้ต้องไปทําแผนประกอบคํารับสารภาพ การจัดทําแผนฯ ควรทําในเฉพาะกรณีที่เชื่อว่าจะสามารถทําให้ได้พยานหลักฐานเพิ่มเติม
 ส่วนการนําผู้กระทําผิดมาแถลงข่าว ก็ไม่ควรนําเสนอถึงวิธีการของการกระทําความผิด แต่ควรมุ่งถึงเหตุปัจจัยที่ทําให้ผู้กระทําผิดก่ออาชญากรรมเพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่สังคม เพราะถ้านําเสนอเรื่องวิธีการมาก อาจทําให้เกิดการลอกเลียนแบบและการเผยแพร่ภาพการประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาก็เหมือนสังคมยอมรับว่าการแก้แค้นของผู้เสียหายสามารถทําได้ อีกทั้งการนําเสนอข่าวสื่อมักจะเสนอให้ผู้ชมเชื่อไปแล้วว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ที่กระทําผิดจริง ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด จึงอยากให้สื่อฯ และสังคมไทยให้ความสําคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การปกครองแบบนิติรัฐเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
 ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีที่เกาะเต่าว่า การนําเสนอภาพข่าวหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์รวมถึงบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในคดีออกสู่สาธารณะเป็นจํานวนมาก บางสํานักข่าวนําเสนอภาพข่าวหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ ซึ่งการนําข้อมูลของผู้ตายและภาพข่าวมาเผยแพร่ซ้ําย่อมเป็นการตอกย้ําถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่กระทบกระเทือนต่อครอบครัวของผู้เสียหายอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา รวมถึงอาจส่งผลต่อรูปคดี และการสัมภาษณ์ล่ามถึงรายละเอียดคําให้การต้องมีจรรยาบรรณในการรักษาความลับ

 ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตัวจริง100%’ ‘สมยศโต้แพะ ‘2พม่าฆ่าฝรั่ง
'ทำแผนรับสารภาพ-ขอขมา' สอบสวนละเมิดสิทธิ-ส่อผิดก.ม.

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การเขียนข่าว


          ข่าวคือเรื่องราวต่าง ๆ  ที่มากจากทั่วสารทิศ  ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกันตามแหล่งที่มา  สามารถเสนอออกมาได้ในรูปแบบต่าง ๆ  ตัวอย่างเช่น  หนังสือพิมพ์  วิทยุและโทรทัศน์  เป็นต้น  ข่าวจะเสนอออกมาได้ดีหรือไม่ดี  ให้ประโยชน์หรือให้โทษนั้นขึ้นอยู่กับการเขียนข่าวว่าใช้จรรยาบรรณในการเขียนหรือไม่
1.  ความหมายและความสำคัญของ "ข่าว"
   
ข่าวคือ  เรื่องราวต่าง ๆ ที่มาจากทั่วสารทิศ  และสรุปความหมายของข่าวได้ว่า  ข่าว  คือ  รายงานของเหตุการณ์
   
ข่าวจำแนกได้ 3 ชนิด ตามแหล่งที่มาของข่าว  คือ
    1. 
ข่าวทางราชการ
    2. 
ข่าวเกี่ยวกับกิจธุระต่าง ๆ
    3. 
ข่าวเรื่องราวทั่วไป
   
มีความสำคัญคือ  ให้ข่าวสารแก่ผู้อ่าน, เพื่อให้ความคิดเห็นแก่ผู้อ่าน, เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน  และเพื่อให้บริการผู้อ่านและชุมชน
2.  องค์ประกอบสำคัญของข่าว
   
ซึ่งจะต้องมีลักษณะที่สำคัญและน่าสนใจสำหรับประชาชน  ดังนี้
    1. 
ความสดใหม่
    2. 
ความใกล้ชิด
    3. 
ความเด่น  เช่นตัวบุคคล  หรือสถานที่
    4. 
ผลกระทบ
    5. 
ความขัดแย้ง
    6. 
ความมีเงื่อนงำ
    7. 
ความแปลกหรือผิดไปจากธรรมดา
    8. 
เรื่องราวที่เร้าใจมนุษย์
    9. 
ภัยพิบัติ
    10.
เรื่องราวเกี่ยวกับเพศ
3.  ภาษาที่ใช้ในการเขียนข่าว
    - 
ไม่ควรพรรณนาจนเกินความจำเป็นหรือไม่สร้างสรรค์
    - 
ไม่ควรใช้ภาษาที่ก้าวร้าว หยาบคาย ส่อเสียด หรือภาษาที่ส่อเจตนายั่วยุอารมณ์หรือทำให้ผู้อ่านหลงเข้าใจผิด
4.  วิธีการเขียนข่าว
   
จะต้องประกอบด้วยใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร โดยการนำจุดเด่นของเรื่องราวหรือเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเป็นข่าว  การเขียนข่าวทางวิทยุกระจายเสียงจะต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย  กระทัดรัด  ชัดเจน  เป็นความจริง  และเป็นที่สนใจของผู้ฟัง
    
การเขียนข่าวจะต้องมีความรับผิดชอบและยึดหลักการเขียนดังนี้
    - 
ความถูกต้อง
    - 
รายงานโดยปราศจากอคติใด ๆ
    - 
รายงานด้วยภาษาที่ชัดเจน สั้น กระชับ เข้าใจง่าย
    - 
รายงานอย่างถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาที่ดี  และพิถีพิถันในการพิสูจน์อักษร
    
ส่วนประกอบหรือโครงสร้างของการเขียนข่าว
    1. 
พาดหัวข่าว Headline  เป็นข้อความนำข่าวนิยมใช้ตัวใหญ่เป็นการบอกเรื่องย่อให้น่าสนใจ
    2.  
ความนำ Lead  เป็นการย่อเรื่องให้คนฟังได้รู้เรื่องก่อนมีความยาว 3-4 บรรทัด
    3.  
ส่วนเชื่อม Neck Bridge  เป็นส่วนเชื่อมข้อความระหว่างความนำกับเนื้อหา
    4.  
เนื้อหาหรือเนื้อข่าว Body  เป็นการเขียนรายละเอียดของข่าวนั้น ๆ ให้สมบูรณ์
    5. 
ภาพประกอบ (ถ้ามี)
5.  รูปแบบการเขียนข่าว
   
เขียนได้ 3 รูปแบบ คือ
    1. 
การเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวกลับ
       
เป็นรูปแบบพื้นฐานที่นิยมใช้กันมากที่สุด  เนื่องจากรูปแบบนี้ให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่านไว้ในย่อหน้าแรก  ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องราวอย่างย่อ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องอ่านข่าวต่อจนจบ
    2. 
การเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวตั้ง
       
การเขียนข่าวแบบนี้มักใช้กับข่าวสั้น ๆ และมีลีลาการเขียนคล้ายเรื่องสั้น ๆ ซึ่งวรรคสุดท้ายหรือฐานพีระมิด จะเป็นช่วงที่มีความสำคัญที่สุด
    3. 
การเขียนข่าวแบบลำดับเหตุการณ์
       
จะเริ่มย่อหน้าแรกด้วยความนำสรุปย่อเหตุการณ์ ซึ่งจะบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น  ซึ่งเป็นผลลัพธ์ทั้งหมด  ส่วนเนื้อข่าวจะเล่าถึงเหตุการณ์หรือการกระทำที่เป็นไปตามลำดับเวลา
6.  การระบุชื่อบุคคลในการเขียนข่าว
   
ต้องระบุชื่อ ตำแหน่ง ยศ บรรดาศักดิ์  ให้ถูกต้อง และจะต้องมีการตรวจทานด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาดในสิ่งเหล่านี้
7.  คุณสมบัติของนักข่าวที่ดี
    1. 
มีความรับผิดชอบต่อประชาชน
    2. 
จะต้องมีความอยากรู้อยากเห็น และสามารถเลือกข่าวที่น่าสนใจได้โดยสัณชาตญาณ
    3. 
จะต้องเป็นนักสัมภาษณ์ที่ดี
    4. 
จะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "ข่าว"
    5. 
จะต้องเป็นนักเขียนที่ดี
    6. 
จะต้องมีความสามารถในการทำงานภายใต้ระยะเวลาที่เร่งรีบ
    7. 
จะต้องเข้าใจการดำเนินงานขององค์กร และรู้งานด้านอื่นอีกด้วย
    8. 
จะต้องรู้จักใช้เครื่องมือในการสื่อข่าว
    9. 
จะต้องเป็นคนมีไหวพริบ
    10.
จะต้องทำงานได้หลายด้าน
    11.
รู้จักเกียรติยศและศักดิ์ศรี ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลใด ๆ
8.  การผลิตข่าวและการรายงานข่าว
    
การผลิตข่าว  จะต้องมีกองบรรณาธิการข่าวเป็นผู้ดำเนินการดังนี้
    - 
หัวหน้าข่าว หรือ บก.ข่าว  เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองบรรณาธิการข่าว รวมทั้งพิจารณาตัดสินใจในการนำเสนอข่าวให้เหมาะสม
    - 
บรรณาธิการข่าว  เป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้สื่อข่าวที่อาวุโส  รับผิดชอบในการจัดและเสนอข่าวแต่ละภาค
    - 
ผู้สื่อข่าว  มีหน้าที่หลัก คือ การออกไปสื่อข่าว หรือติดตามข่าวจากบุคคลสำคัญ
    - 
ผู้อ่านข่าว  ทำหน้าที่ในการอ่านข่าวจากต้นฉบับที่กองบรรณาธิการข่าวได้จัดทำขึ้น
   
ในการผลิตข่าวนั้น จะต้องมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
    1. 
การวางแผน
    2. 
การรวบรวมข่าว
    3. 
การตกแต่งข่าว
    4. 
การตรวจแก้ไข
    5. 
การจัดทำต้นฉบับข่าว
    6. 
การนำเสนอออกอากาศ
    
การรายงานข่าว  เป็นหน้าที่ของผู้สื่อข่าว  เมื่อสามารถสื่อข่าวตามที่ได้รับมอบหมายได้แล้ว  ก็จะต้องรายงานกลับเข้ามายังกองบรรณาธิการข่าว  ซึ่งผู้รายงานข่าวสามารถดำเนินการได้ดังนี้
    - 
รายงานข่าวที่รวบรวมมาได้จากแหล่งข่าวโดยทางโทรศัพท์
    - 
รายงานข่าวโดยส่งเป็นข้อความที่เขียนเป็นข่าวเรียบร้อยแล้ว
    - 
การรายงานข่าวสดจากพื้นที่ที่เกิดเหตุไปยังห้องส่ง  เป็นการรายงานข่าวด่วนซึ่งเป็นที่น่าสนใจและสำคัญ เพื่อสามารถออกอากาศให้ประชาชนได้รับทราบทันที
    - 
ส่งเป็นจดหมายทางไปรษณีย์มายังกองบรรณาธิการข่าว  กรณีนี้สามารถทำได้ถ้าหากว่าข่าวนนั้นไม่ด่วนและไม่ใช่ข่าวสด
9.  การเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์
   
การประชาสัมพันธ์  หมายถึง  วิธีการถ่ายทอดข่าวสารหรือกิจกรรมการสื่อสารของหน่วยงานที่มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานกับกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งมีประเด็นที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ  ได้แก่
    1. 
คำว่า "วิธีการหรือกิจกรรมการสื่อสาร"  หมายถึง  การดำเนินการใด ๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อนำมาเสริมสร้างความสัมพันธ์
    2. 
คำว่า "หน่วยงาน" ในที่นี้หมายถึง  หน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของตนเองตามภารกิจที่มีอยู่
    3. 
คำว่า "ความสัมพันธ์อันดี"  ได้แก่  ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับกลุ่มเป้าหมาย
    4. 
คำว่า "กลุ่มเป้าหมาย" หมายถึง  คณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องสัมพันธ์กับหน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อม
    5. 
คำว่า "ประชามติ"  หมายถึง  ความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อหน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าว
    6. 
คำว่า "แบบแผนและการกระทำอย่างต่อเนื่อง"  หมายถึง  การเขียนข่าวต้องทำเป็นประจำต่อเนื่องกันไป เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับข้อมูลที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ
    
หลักการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์
    1. 
เลือกคำสั้น ๆ มีความหมายตรงตามต้องการ ใช้ภาษาสุภาพเป็นกันเอง
    2. 
ประเด็นของข่าวน่าสนใจ
    3. 
มีจุดมุ่งหมายของการเขียนชัดเจนว่า เพื่ออะไร และในโอกาสใด
    4. 
เลือกหัวข้อเรื่องให้เหมาะสมกับผู้รับสาร
    5. 
เรียบเรียงหัวข้อต่าง ๆ ให้ต่อเนื่อง