ข่าวคือเรื่องราวต่าง ๆ ที่มากจากทั่วสารทิศ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกันตามแหล่งที่มา สามารถเสนอออกมาได้ในรูปแบบต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น ข่าวจะเสนอออกมาได้ดีหรือไม่ดี ให้ประโยชน์หรือให้โทษนั้นขึ้นอยู่กับการเขียนข่าวว่าใช้จรรยาบรรณในการเขียนหรือไม่
1. ความหมายและความสำคัญของ "ข่าว"
ข่าวคือ เรื่องราวต่าง ๆ ที่มาจากทั่วสารทิศ และสรุปความหมายของข่าวได้ว่า ข่าว คือ รายงานของเหตุการณ์
ข่าวจำแนกได้ 3 ชนิด ตามแหล่งที่มาของข่าว คือ
1. ข่าวทางราชการ
2. ข่าวเกี่ยวกับกิจธุระต่าง ๆ
3. ข่าวเรื่องราวทั่วไป
มีความสำคัญคือ ให้ข่าวสารแก่ผู้อ่าน, เพื่อให้ความคิดเห็นแก่ผู้อ่าน, เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน และเพื่อให้บริการผู้อ่านและชุมชน
2. องค์ประกอบสำคัญของข่าว
ซึ่งจะต้องมีลักษณะที่สำคัญและน่าสนใจสำหรับประชาชน ดังนี้
1. ความสดใหม่
2. ความใกล้ชิด
3. ความเด่น เช่นตัวบุคคล หรือสถานที่
4. ผลกระทบ
5. ความขัดแย้ง
6. ความมีเงื่อนงำ
7. ความแปลกหรือผิดไปจากธรรมดา
8. เรื่องราวที่เร้าใจมนุษย์
9. ภัยพิบัติ
10. เรื่องราวเกี่ยวกับเพศ
3. ภาษาที่ใช้ในการเขียนข่าว
- ไม่ควรพรรณนาจนเกินความจำเป็นหรือไม่สร้างสรรค์
- ไม่ควรใช้ภาษาที่ก้าวร้าว หยาบคาย ส่อเสียด หรือภาษาที่ส่อเจตนายั่วยุอารมณ์หรือทำให้ผู้อ่านหลงเข้าใจผิด
4. วิธีการเขียนข่าว
จะต้องประกอบด้วยใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร โดยการนำจุดเด่นของเรื่องราวหรือเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเป็นข่าว การเขียนข่าวทางวิทยุกระจายเสียงจะต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระทัดรัด ชัดเจน เป็นความจริง และเป็นที่สนใจของผู้ฟัง
การเขียนข่าวจะต้องมีความรับผิดชอบและยึดหลักการเขียนดังนี้
- ความถูกต้อง
- รายงานโดยปราศจากอคติใด ๆ
- รายงานด้วยภาษาที่ชัดเจน สั้น กระชับ เข้าใจง่าย
- รายงานอย่างถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาที่ดี และพิถีพิถันในการพิสูจน์อักษร
ส่วนประกอบหรือโครงสร้างของการเขียนข่าว
1. พาดหัวข่าว Headline เป็นข้อความนำข่าวนิยมใช้ตัวใหญ่เป็นการบอกเรื่องย่อให้น่าสนใจ
2. ความนำ Lead เป็นการย่อเรื่องให้คนฟังได้รู้เรื่องก่อนมีความยาว 3-4 บรรทัด
3. ส่วนเชื่อม
4. เนื้อหาหรือเนื้อข่าว Body เป็นการเขียนรายละเอียดของข่าวนั้น ๆ ให้สมบูรณ์
5. ภาพประกอบ (ถ้ามี)
5. รูปแบบการเขียนข่าว
เขียนได้ 3 รูปแบบ คือ
1. การเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวกลับ
เป็นรูปแบบพื้นฐานที่นิยมใช้กันมากที่สุด เนื่องจากรูปแบบนี้ให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่านไว้ในย่อหน้าแรก ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องราวอย่างย่อ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องอ่านข่าวต่อจนจบ
2. การเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวตั้ง
การเขียนข่าวแบบนี้มักใช้กับข่าวสั้น ๆ และมีลีลาการเขียนคล้ายเรื่องสั้น ๆ ซึ่งวรรคสุดท้ายหรือฐานพีระมิด จะเป็นช่วงที่มีความสำคัญที่สุด
3. การเขียนข่าวแบบลำดับเหตุการณ์
จะเริ่มย่อหน้าแรกด้วยความนำสรุปย่อเหตุการณ์ ซึ่งจะบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์ทั้งหมด ส่วนเนื้อข่าวจะเล่าถึงเหตุการณ์หรือการกระทำที่เป็นไปตามลำดับเวลา
6. การระบุชื่อบุคคลในการเขียนข่าว
ต้องระบุชื่อ ตำแหน่ง ยศ บรรดาศักดิ์ ให้ถูกต้อง และจะต้องมีการตรวจทานด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาดในสิ่งเหล่านี้
7. คุณสมบัติของนักข่าวที่ดี
1. มีความรับผิดชอบต่อประชาชน
2. จะต้องมีความอยากรู้อยากเห็น และสามารถเลือกข่าวที่น่าสนใจได้โดยสัณชาตญาณ
3. จะต้องเป็นนักสัมภาษณ์ที่ดี
4. จะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "ข่าว"
5. จะต้องเป็นนักเขียนที่ดี
6. จะต้องมีความสามารถในการทำงานภายใต้ระยะเวลาที่เร่งรีบ
7. จะต้องเข้าใจการดำเนินงานขององค์กร และรู้งานด้านอื่นอีกด้วย
8. จะต้องรู้จักใช้เครื่องมือในการสื่อข่าว
9. จะต้องเป็นคนมีไหวพริบ
10. จะต้องทำงานได้หลายด้าน
11. รู้จักเกียรติยศและศักดิ์ศรี ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลใด ๆ
8. การผลิตข่าวและการรายงานข่าว
การผลิตข่าว จะต้องมีกองบรรณาธิการข่าวเป็นผู้ดำเนินการดังนี้
- หัวหน้าข่าว หรือ บก.ข่าว เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองบรรณาธิการข่าว รวมทั้งพิจารณาตัดสินใจในการนำเสนอข่าวให้เหมาะสม
- บรรณาธิการข่าว เป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้สื่อข่าวที่อาวุโส รับผิดชอบในการจัดและเสนอข่าวแต่ละภาค
- ผู้สื่อข่าว มีหน้าที่หลัก คือ การออกไปสื่อข่าว หรือติดตามข่าวจากบุคคลสำคัญ
- ผู้อ่านข่าว ทำหน้าที่ในการอ่านข่าวจากต้นฉบับที่กองบรรณาธิการข่าวได้จัดทำขึ้น
ในการผลิตข่าวนั้น จะต้องมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. การวางแผน
2. การรวบรวมข่าว
3. การตกแต่งข่าว
4. การตรวจแก้ไข
5. การจัดทำต้นฉบับข่าว
6. การนำเสนอออกอากาศ
การรายงานข่าว เป็นหน้าที่ของผู้สื่อข่าว เมื่อสามารถสื่อข่าวตามที่ได้รับมอบหมายได้แล้ว ก็จะต้องรายงานกลับเข้ามายังกองบรรณาธิการข่าว ซึ่งผู้รายงานข่าวสามารถดำเนินการได้ดังนี้
- รายงานข่าวที่รวบรวมมาได้จากแหล่งข่าวโดยทางโทรศัพท์
- รายงานข่าวโดยส่งเป็นข้อความที่เขียนเป็นข่าวเรียบร้อยแล้ว
- การรายงานข่าวสดจากพื้นที่ที่เกิดเหตุไปยังห้องส่ง เป็นการรายงานข่าวด่วนซึ่งเป็นที่น่าสนใจและสำคัญ เพื่อสามารถออกอากาศให้ประชาชนได้รับทราบทันที
- ส่งเป็นจดหมายทางไปรษณีย์มายังกองบรรณาธิการข่าว กรณีนี้สามารถทำได้ถ้าหากว่าข่าวนนั้นไม่ด่วนและไม่ใช่ข่าวสด
9. การเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์ หมายถึง วิธีการถ่ายทอดข่าวสารหรือกิจกรรมการสื่อสารของหน่วยงานที่มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานกับกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีประเด็นที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่
1. คำว่า "วิธีการหรือกิจกรรมการสื่อสาร" หมายถึง การดำเนินการใด ๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อนำมาเสริมสร้างความสัมพันธ์
2. คำว่า "หน่วยงาน" ในที่นี้หมายถึง หน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของตนเองตามภารกิจที่มีอยู่
3. คำว่า "ความสัมพันธ์อันดี" ได้แก่ ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับกลุ่มเป้าหมาย
4. คำว่า "กลุ่มเป้าหมาย" หมายถึง คณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องสัมพันธ์กับหน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อม
5. คำว่า "ประชามติ" หมายถึง ความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อหน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าว
6. คำว่า "แบบแผนและการกระทำอย่างต่อเนื่อง" หมายถึง การเขียนข่าวต้องทำเป็นประจำต่อเนื่องกันไป เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับข้อมูลที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ
หลักการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์
1. เลือกคำสั้น ๆ มีความหมายตรงตามต้องการ ใช้ภาษาสุภาพเป็นกันเอง
2. ประเด็นของข่าวน่าสนใจ
3. มีจุดมุ่งหมายของการเขียนชัดเจนว่า เพื่ออะไร และในโอกาสใด
4. เลือกหัวข้อเรื่องให้เหมาะสมกับผู้รับสาร
5. เรียบเรียงหัวข้อต่าง ๆ ให้ต่อเนื่อง
หวังว่าคงได้ไอเดียบ้างนะคะ
ตอบลบขอบคุณครับ มีประโยชน์มากครับ
ตอบลบ