ข้อควรปฏิบัติในการเขียนบทบรรณาธิการ
นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญต่อการเขียนบทบรรณาธิการ เพื่อให้งานเขียนมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือในการรับรู้ของผู้อ่าน ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอน ดังนี้
1.การประชุมกองบรรณาธิการ เป็นการพบปะระหว่างสมาชิกในกองบรรณาธิการเพื่อพิจารณาและปรึกษาหารือถึงเรื่องที่มีคุณค่าเหมาะสมกับการนำมาเขียนเป็นบทบรรณาธิการรวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผล ในจุดยืนที่ควรแสดงออก
2.การเลือกเรื่องหรือประเด็นปัญหา ควรเลือกเรื่องที่มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยตรง
3.การตั้งวัตถุประสงค์ หมายถึง การกำหนดเป้าหมายของการเขียนเรื่องนั้นๆ เช่น เพื่อ โน้มน้าว ชักจูงใจ หรือเพื่อกระตุ้น เป็นต้น ที่สำคัญการตั้งวัตถุประสงค์จะเป็นการช่วยให้ผู้เขียนสามารถเลือกใช้ภาษาได้อย่างเหมาะสม เข้าถึงกลุ่มผู้อ่านเป้าหมาย อีกทั้งยังช่วยให้การแสดงเหตุผลมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
4.การพิจารณากลุ่มเป้าหมาย เป็นการกำหนดว่าบทบรรณาธิการที่เขียนนั้นต้องการสื่อไปยังกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายใด และเมื่อสามารถกำหนดเป้าหมายได้แล้วก็จะช่วยให้ผู้เขียนสามารถใช้ภาษาและลีลาการเขียนที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้อ่านนั้นๆ ที่สำคัญผู้เขียนจะต้องคำนึงด้วยว่าเนื้อหาที่สื่อไปนั้นผู้อ่านเข้าใจหรือไม่
5.การรวบรวมข้อมูล ไม่ว่าจะเขียนสิ่งใดก็ตาม จำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อสนับสนุนหรืออ้างอิงในข้อเขียน ดังนั้นการรวบรวมและการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนจึงมีความสำคัญอย่างมาก
6.การวิเคราะห์ข้อมูลและลำดับข้อมูล หมายถึง เมื่อได้ข้อมูลมาทั้งหมดให้ตัดสินใจเลือกข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดจากนั้นให้วิเคราะห์ข้อมูลซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะหากวิเคราะห์ข้อมูลไม่รอบคอบอาจเกิดความผิดพลาด ไร้ความเที่ยงธรรมได้ ส่วนการลำดับข้อมูลต้องมีการถ่ายทอดอย่างเป็นธรรม โดยเริ่มจากการร่างโครงเรื่อง (outline) ในประเด็นที่จะเขียนตามลำดับ และแต่ละย่อหน้าต้องมีเอกภาพเป็นเรื่องเดียวกัน
7.การเขียนบทบรรณาธิการมีข้อควรระวังคือ การใช้ภาษาต้องสื่อสารอย่างเข้าใจได้ง่ายไม่ใช้คำฟุ่มเฟือยเกินไป รวมทั้งการถ่ายทอดความคิดที่เป็นระเบียบ มีการลำดับเนื้อหาที่ดีเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการสื่อสาร แต่ขณะเดียวกันถ้าสามารถสื่อให้เข้าถึงบุคคลทุกระดับจะเป็นการดีอย่างยิ่ง
นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้วคุณสมบัติของผู้เขียนบทบรรณาธิการก็เป็นสิ่งสำคัญซึ่งผู้ที่จะเขียนบทบรรณาธิการที่ดีนั้นก็ควรมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างค่ะ อาทิ มีความสนใจในเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวาง, ควรจะมีความสามารถในการขุดคุ้ย ค้นคว้า เจาะหาข้อมูลได้อย่างลึกซึ้ง, มีจิตสำนึกของการเป็นนักข่าวที่ดีในการวินิจฉัยข้อมูลได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรงตลอดจนรู้กลวิธีในการได้ข้อมูลที่แท้จริง, มีความสามารถในการเขียนอย่างดี, มีความเป็นธรรม และพร้อมที่จะแสดงความเห็นในสิ่งที่พบเห็นโดยมีการศึกษา พิจารณา ไตร่ตรองอย่างมีคุณธรรม เพื่อแสดงออกถึงความคิดที่มีอยู่ สามารถถ่ายทอดความคิดนั้นได้อย่างชัดเจนในเวลาอันสั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น