pearleus

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565

“อยากได้ไอเดียใหม่น่ะเหรอ? …ลองคิดนอกกรอบดูสิ”


พูดน่ะทำง่าย แล้วการคิด “นอกกรอบ” (Lateral Thinking) แบบที่สื่อกระแสหลักว่ากันน่ะ…มันเป็นอย่างไร? ต้องเริ่มจากตรงไหน? ทำอะไรก่อนหลัง?

หลายคนอาจมองว่าการคิดนอกกรอบ คือการตัดสิ่งที่มีอยู่ทิ้งไปก่อน แล้วเริ่มต้นคิดจากศูนย์…แต่ความจริงแล้วตรงกันข้ามเลย เพราะทุกไอเดียแสนบรรเจิดล้วนมาจากการคิดต่อยอดจากของเก่าทั้งสิ้น 

เพียงแต่การคิดนอกกรอบ…มีบางอย่างที่ต่างจากพวก

Lateral Thinking เทคนิคการคิดแบบนอกกรอบ

เดิมที บริษัทมักจมปลักอยู่กับวิธีที่พิสูจน์มาแล้วว่าเวิร์ค (Best practice) แต่การเฟ้นหาไอเดียใหม่ๆ ระดับปฏิวัติวงการ ไม่สามารถทำสิ่งเดิมๆ (แม้จะดี) แล้วคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ๆ ได้

ประเด็นนี้ Lateral Thinking หรือการคิด “นอกกรอบ” จะช่วยเราได้มาก Lateral Thinking เป็นคำที่ Dr. Edward De Bono นักจิตวิทยาด้านสมองและประสาทบุกเบิกใช้คำนี้ตั้งแต่หลายทศวรรษที่แล้วจนกลายเป็นคำยอดฮิตในวงการครีเอทีฟปัจจุบัน

Dr. Edward De Bono เผยว่า การคิดนอกกรอบแฝงอยู่ใน “รายละเอียด” เล็กๆน้อยๆ ถ้าเราสังเกตรอบตัวจะพบว่า นวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ มักเกิดจากการพัฒนาให้ดีขึ้นเล็กน้อย…แต่มากจุด (เปลี่ยนน้อย แต่ ปริมาณเยอะ)

เทคนิคคือ รวบรวมมาก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้า “ต้องทำ” เป็นปกติอยู่แล้วเวลาบริโภคสินค้า-บริการ

เช่น มือถือสมัยก่อน สิ่งที่ต้องทำคือกด “ปุ่ม” เพื่อใช้งานต่างๆ ทีนี้เราอาจหยิบ “ปุ่ม” มาครุ่นคิดต่อว่าจะทำอะไรกับมันได้บ้าง? 

ลดจำนวนปุ่มดีไหม?
ออกแบบปุ่มให้เบากดง่ายดีไหม?
หรือตัดปุ่มทิ้งไปเลย?!! แล้วเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทน?!! (ออกมาเป็นทัชสกรีน)

นี่คือหนึ่งในรายละเอียดที่ Steve Jobs นำมาใช้ปฏิวัติวงการมือถือได้สำเร็จ และส่งบริษัท Apple ให้ขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดนับแต่นั้นมา

และบางครั้ง การคิดนอกกรอบไม่ได้โฟกัสแต่เรื่องความสดใหม่ ความทันสมัย เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดเสมอไป…แต่เกิดจากการมองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ และหยิบมา “ประกอบ” (Construct) เข้าด้วยกันจนเกิดเป็นนวัตกรรม

Gunpei Yokoi วิศวกรชาวญี่ปุ่นสะท้อนเรื่องนี้ได้ดีมาก จากมุมมองของเหล่าวิศวกรหัวกะทิ Gunpei Yokoi เป็นแค่ “คนกลางๆ” (Generalist engineer) ไม่ได้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชั้นเลิศ ไม่ได้มีทักษะพิเศษแต่อย่างใด แต่คนกลางๆ คนนี้กลับสร้าง Impact ได้มากกว่าเหล่าหัวกะทิซะอีก

เพราะเขาคือผู้คิดค้น “Nintendo Game Boy” นั่นเอง เขาเลือกนำเทคโนโลยีเก่าๆ (ที่นักประดิษฐ์มองข้าม) และหยิบมันมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์ (Lateral Thinking with Withered Technology)


จากมุมมองของนักประดิษฐ์ Nintendo Game Boy ไม่ใช่อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าเหนือชั้นแต่อย่างใด (ไม่เหมือนสมัยที่ iPhone 1 เปิดตัว) 

Nintendo Game Boy เป็นสินค้าที่เปิดตัวในยุค 1990s ที่ใช้เทคโนโลยีจากยุค 1970s

แต่สะดวก พกพาง่าย แบตเตอรี่ใช้ได้งาน
และดีไซน์ไม่หวือหวา ผู้ใหญ่ก็เล่นได้
สุดท้ายมันตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างมาก “Nintendo Game Boy” กลายเป็นอุปกรณ์เล่นเกมที่ขายดีที่สุดในศตวรรษที่ 20

นอกจากนี้ Myth หรือมายาคติที่คนมักมีต่อการคิดนอกกรอบคือ “ใช้ความรู้สึกสิ ปล่อยใจไปกับมัน…เดี๋ยวไอเดียเจ๋งๆ ก็เด้งออกมาเอง!”

เรื่องนี้อาจเป็นจริงสำหรับอัจฉริยะบางคน แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ การคิดนอกกรอบต้องใช้ “หลักการ” เชิงตรรกะเหตุผลมากกว่าที่คิดเยอะ 

รู้ปัญหาถึงแก่น ด้วยการคิด 6 มิติ 

Lateral Thinking เป็นกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่มี “หลักการ” ลุ่มลึกกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด โดย Dr. Edward De Bono กล่าวว่าสามารถแบ่งกลุ่มความคิดได้เป็น “6 มิติ” ด้วยกัน (ภายหลังถูกแตกต่างกันไป เช่น กล่อง/หมวก) โดยแต่ละมิติจะถูกแทนด้วย “สี” ได้แก่

สีขาว = ข้อเท็จจริง
สีเขียว = ไอเดียเสนอแนะใหม่ๆ
สีเหลือง = จุดเด่นด้านบวก (โอกาส / การต่อยอดไอเดียใหม่ / จุดแข็ง)
สีดำ = จุดเด่นด้านลบ (ปัญหา / ความเสี่ยง / จุดด้อย)
สีแดง = อารมณ์ความรู้สึก (ชอบ / ไม่ชอบ / ไม่ถูกจริต)
สีฟ้า = การจัดระเบียบความคิด การบริหารจัดการ
โดยในการขบคิดแต่ละครั้ง (เช่น ในที่ประชุมที่มีผู้เกี่ยวข้อง 10 คน) จะให้ทุกคนคิดแค่ 1 มิติ (1 สี) เพื่อที่จะสามารถ “โฟกัส” ไปที่เรื่องนั้นเรื่องเดียว ก่อนจะสลับ “หมุนเวียน” ไปสีอื่นๆ จนครบ


เช่นถ้าครั้งนี้เลือก “สีดำ” ก็ต้องนำเสนอแต่ปัญหาอุปสรรค
คู่แข่งเปิดตัวสินค้าใหม่ตัดหน้า 1 อาทิตย์
คอนเทนต์ที่ปล่อยไปไม่ Viral ยอด View ไม่ถึง 100,000
ผลกระทบจากโควิด ทำให้จำนวนสปอนเซอร์หายไป 40%
ถ้าเลือก “สีแดง” ก็ต้องนำเสนออารมณ์ความรู้สึก
“เรื่องอื่นโอเคหมดเลย ไม่ติดอะไร…แต่แค่รู้สึกไม่ชอบดีไซน์”
“รู้สึกว่า ดารา A ภาพลักษณ์บุคลิกท่าทางดูเข้ากับแบรนด์เรามากกว่า”
ถ้าเลือก “สีขาว” ก็ต้องนำเสนอเพียงข้อเท็จจริง

ญี่ปุ่นเปิดฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวไทยเมื่อปี 2013

ปี 2013 นักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่น 219,000 คน ใช้จ่าย 9.1 พันล้านบาท

ปี 2019 นักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่น 1,148,000 คน ใช้จ่าย 4.2 หมื่นล้านบาท

เพียง 6 ปีหลังจากฟรีวีซ่า จำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปเยือนญี่ปุ่นมากขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว ยอดใช้จ่ายสูงขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว

แต่ละสี-แต่ละมิติ ไม่ได้มีความสำคัญหรือเร่งด่วน (Priority) มากน้อยไปกว่ากัน เป็นเพียงการ “จัดระเบียบความคิด” ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เท่านั้นเอง


การคิดแบบ 6 มิตินี้ช่วยให้เราไม่ “ฟุ้งซ่าน” คิดโน่นคิดนี่สะเปะสะปะจนจับประเด็นหลักไม่ได้

สุดท้ายเราจะเห็นว่า Lateral Thinking การคิดนอกกรอบเป็นกระบวนการคิดที่ยังคงใช้ตรรกะเหตุผลอย่างเข้มข้นอยู่ เพียงแต่เป็นการคิดไม่เหมือนปกติ มองในมุมกลับ ตั้งคำถามอย่างชาญฉลาด

หาวิธีการใหม่ๆ เพื่อผลลัพธ์ใหม่ๆ สุดครีเอทีฟนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น